ปราสาทเมืองที

ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส  ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกันหลังหนึ่งอยู่ตรงกลาง และอีก 4 หลังอยู่ที่มุมทั้ง 4 ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตูเนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด

ปราสาทเมืองที ประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันหักพังเหลือเพียง 3 องค์ คือ องค์กลาง องค์มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และองค์ด้านตะวันตกเฉียงใต้ องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากการดัดแปลงในสมัยต่อๆ มา ส่วนยอดทำเป็นแบบตัวเรือนธาตุซ้อนกัน 3 ชั้น ส่วนบนหัก ที่เหลืออีก 2 องค์มีขนาดและลักษณะคล้ายคลึงกัน

จากแผนผังและลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์ปรางค์ที่มีลักษณะผอมเรียว ปราสาทเมืองทีจัดเป็นโบราณสถานศิลปะลาว ที่มีการสร้างขึ้นโดยคนในชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 23 – 24

อายุสมัย  นักวิชาการได้สันนิษฐานอายุสมัยของโบราณสถานแห่งนี้  2  ประการ  คือ

1. พิจารณาจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์ปราสาทที่มีลักษณะผอมเรียวและจากประวัติศาสตร์เมืองทีเมื่อสมัยอยุธยาตอนปลาย  ปราสาทเมืองทีน่าจะสร้างและต่อเติมจากกลุ่มขอมและกูยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา  และได้พยายามพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมในอดีต

2. โบราณสถานแห่งนี้แต่เดิมเคยเป็นศาสนสถานของวัฒนธรรมขอมโบราณมาก่อน  ต่อมาสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้ถูกต่อเติมโดยกลุ่มขอมและกูยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศีขรภูมิ ทางหลวงหมายเลข 226 จนถึงบ้านโคกลำดวน เลี้ยวซ้ายเข้าวัดจอมสุทธาวาส

 

ขอบคุณข้อมูล

วิกิพีเดีย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

ข้ามไปยังทูลบาร์